ตักบาตรพระร้อย ด้วยใจเปี่ยมศรัทธา ถึงช่วงวันออกพรรษาประจำปี ชาวบ้านต่างตระเตรียมข้าวของ ทั้งอาหารคาวหวาน พืชผักผลไม้ พระจำนวนกว่าร้อยรูปนั่งบนลำเรือล่องเลาะริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรอย่างอิ่มอุ่น ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป
ประเพณีตักบาตรของชาวปทุมธานี
ตักบาตรพระร้อย ประเพณีที่ชาวปทุมธานียึดถือปฏิบัติกันมายาวนานนับร้อยปี ถึงช่วงเทศกาลวันออกพรรษาวัดริมฝั่งน้ำแถบปทุมจะตระเตรียมพื้นที่ ขึงเชือก ประดับทิวธง เป็นบริเวณสำหรับทำบุญตักบาตร ชาวบ้านจะหาซื้อข้าวของ ประกอบอาหารไว้สำหรับตักบาตรให้แก่พระภิกษุสงฆ์ โดยจะเริ่มกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ที่เรียกชื่อกันว่าประเพณีตักบาตรพระร้อยก็ด้วยเพราะพระจำนวนมากนับกว่าร้อยรูปที่เข้าร่วมในวันงานจึงเกิดเป็นชื่อเรียกของประเพณีตักบาตรพระร้อยนั่นเอง
ประวัติและความเป็นมาของการตักบาตรพระร้อย
ย้อนถึงประวัติความเป็นมา และพิธีปฏิบัติในประเพณีเก่าแก่นี้ หากวัดใดที่จะจัดพิธีตักบาตรพระร้อยต้องแจ้งกำหนดวันเสียก่อน ซึ่งประเพณีจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 11 วนเวียนกันไปในแต่ละวัด ถึงวันงานทางวัดจะนิมนต์พระเพื่อร่วมพิธีการแต่เช้ามืด จากนั้นจึงจัดลำดับโดยการแจกหมายเลขก่อนหลัง เสร็จแล้ววัดเจ้าภาพจึงถวายภัตตาหารเช้าแก่พระที่ร่วมพิธี การตักบาตรพระร้อยจะเริ่มประมาณสองโมงเช้า นำโดยเรือพระพุทธวัดเจ้าภาพซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เรือกระแชง ภายในเรือจะตั้งพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจึงเป็นเรือพระสงฆ์เรียงตามลำดับหมายเลขที่ได้รับ เอกลักษณ์ของประเพณีคือการทำบุญตักบาตรจะประกอบขึ้นในเรือ ชาวบ้านจอดเรือจับเข้ากันเป็นพวง จัดเตรียมอาหารมาใส่บาตรพ่อพายท้าย แม่พายหัว ลูกนั่งกลางลำเรือ ส่วนพระภิกษุสงฆ์ลงเรือนั่งเป็นประธาน มีศิษย์วัดนั่งหัวเรือ ท้ายเรือคอยสาวเรือไปตามพวงหรือรับอาหารบิณฑบาต แม้วิธีปฏิบัติจะแปรเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่ภาพความศรัทธาสามัคคียังคงดำรงสะท้อนออกมาจากผู้คนนับร้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว ยืนเรียงเป็นทิวแถว ขบวนเรือประดับแม่น้ำอย่างมีชีวิต อีกทั้งอาหารคาวหวาน หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผลไม้ ส้ม องุ่น กล้วยหอม ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มหมัด ข้าวเม่าทอด ขนมตาล ขนมสอดไส้ แต่ละบ้านจัดเตรียมแยกไว้เป็นอย่างๆ เพื่อทำบุญตักบาตรในรุ่งเช้า หลังตักบาตรเสร็จแล้ว กลางวันปิดทองพระประธานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีการละเล่นรำพาข้าวสารและทอดผ้าป่าตามขนบธรรมเนียมประเพณี