สมาธิสั้นเป็นปัญหาของการควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งจะต้องเป็นมาตั้งแต่เด็ก โดยจะมีอาการหลัก คือ ควบคุมสมาธิไม่ได้ ส่วนจะมีอาการซนอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่นด้วยหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ว่าเป็นชนิดเหม่อลอยหรือชนิดซน ส่วนมากชนิดเหม่อลอยจะพบในเด็กผู้หญิง และชนิดซนจะพบในเด็กผู้ชาย แต่ก็ไม่เสมอไป สาเหตุในปัจจุบันเท่าที่ทราบก็คือ เกิดจากระดับของสารสื่อประสาทในสมอง คือ นอร์อีพิเนฟฟรีน และโดปามีนในสมอง บริเวณผิวสมองส่วนหน้าของสมองส่วนหน้า สไตเอตรัม และนิวเคลียสแอ็กคัมเบ็นส์ของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีน้อยกว่าปกติ
เด็กเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนในสังคม เด็กจะทรมานกับการทำการบ้านแต่แล้วก็ลืมเอาไปส่งครู เด็กจะมีปัญหากับเพื่อนร่วมชั้น พี่น้อง ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจเด็กก็จะไม่สนใจเนื่องจากเด็กจะไม่เชื่อฟังพ่อแม่จะไม่สามารถควบคุมเด็ก เด็กจะไม่มีระเบียบวินัย ต่อมาพ่อแม่ก็จะใช้วิธีดุ ตีแม้ว่าจะทราบว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องแต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร พฤติกรรมการดุด่าและการลงโทษจะทำให้อาการของเด็กแย่ลง เด็กจะดื้อมากขึ้น ต่อต้าน ก้าวร้าว วิธีการที่ดีกว่าคือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบหรือตัดสิทธิอื่นๆ
ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโดยปกติเด็กแต่ละวัยจะมีสมาธิไม่เท่ากันอยู่แล้ว เด็กเล็กจะมีสมาธิสั้นกว่าเด็กโต ในเด็กเล็กๆช่วงขวบปีแรกจะมีสมาธิไม่เกิน 2-3 นาที หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือในช่วง 1-2 ขวบประมาณ 3-5 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที และช่วงประถมต้นได้นานถึง 15-30 นาทีขึ้นไป ดังนั้นจะนำเด็กเล็กมาเปรียบเทียบกับเด็กโตไม่ได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ เพราะโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การอยู่ร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน และการเรียนของเด็กเอง รวมถึงเมื่อเด็กโตขึ้นความซับซ้อนทางอารมณ์ก็จะมีมากขึ้น เด็กอาจรู้สึกมีปมด้อยถ้าไม่มีเพื่อนเล่นด้วย นอกจากนี้เด็กสมาธิสั้นยังมีแนวโน้มที่จะโตไปเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวต่อคำพูดของคนอื่น การรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้