ด้วยสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหนีจากเรื่องตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงาน สภาพแวดล้อมรอบตัวปัญหารถติดที่คนกรุงต้องพบเจอทุกเช้าเย็น หนี้สินนอกระบบ ข้าวของแพง และอีกร้อยแปดพันอย่างที่นับว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือเรื่องแย่ๆ แง่ลบที่อยู่ภายในจิตใจ
การฝึกจิตนั่งสมาธิทางออกหรือวิธีบำบัดคงหายากเต็มที แต่ถ้าคุณลองมองดูดีๆนึกอีกทีก็จะค้นพบวิธีการช่วยบรรเทาสภาวะเหล่านั้นได้ด้วยตัวคุณเอง ดังคำสุภาษิตไทยที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
วิธีที่ว่านี้ไม่ได้ยากหรือต้องใช้เงินลงทุนใดๆ เพียงแค่เริ่มจากจิตใจของคุณเอง นั่นคือ การฝึกจิตสร้างสมาธิ ที่จะนำไปสู่ความสงบ เมื่อเกิดความสงบในจิตใจ แน่นอนว่าสิ่งดีๆในชีวิตก็ตามมา
แต่ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงขั้นตอนวิธีการฝึกสมาธินั้น มาทำความเข้าใจกันคำว่าสมาธิกันก่อนดีกว่าค่ะ
สมาธิ ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็ คือ ความสงบ สบาย มีสติ และความรู้สึกเป็นสุข มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้วมีความสุขกับตรงนั้น
แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่รู้สึกแบบนี้ตกอยู่ในสภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น เคร่งเครียด กังวล ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานค่ะ มาเริ่มฝึกสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบกันดีกว่า เริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งใกล้ตัว คือ “การนั่งสมาธิ”
การฝึกจิตนั่งสมาธิ
หลักการเริ่มต้นทำสมาธิง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยในระยะแรกฝึกนั่งเพียง 10 – 15 นาที ก็เพียงพอ
– ปล่อยวาง ความคิดนึก เรื่องราวต่างๆ ให้หมดไปจากใจ ทำสติจับความรู้สึก อยู่ที่ร่างกายให้รู้สึกว่าตอนนี้ตัวเราว่าขณะนี้นั่งอยู่อย่างไร
– นึกรู้ นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา เช่น ถ้าเรานั่งขาขวาทับซ้าย ก็รู้ว่าเรานั่งขาขวาทับซ้าย , เรานั่งหลับตา ก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา
– น้อมนึกเห็นใบหน้าของเรา ว่ามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะ ตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบ ตัวเอง แล้วมาพิจารณาอยู่ที่ใบหน้า
นึกถึงภาพให้เห็นคิ้ว เห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง นึกเห็นปาก เห็นคาง เห็นปลายจมูก เห็นรู้ ลมหายใจเข้า-ออก
กำหนดความรู้สึกอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจ ออกนึกว่า “โธ” จนรู้อยู่แต่ “พุท-โธ” ทุกลมหายใจเข้า-ออก และร่างกายก็จะเข้าสู่คำว่า “กายสงบ ใจสงบ”
– ในช่วงนี้หากคำภาวนา “พุท-โธ” ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณาลมหายใจ เข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ “พุท-โธ” จะหยุดรำลึกไปเอง โดยธรรมชาติอย่าหวนคำรำลึก หรือทวนความรู้สึกใดๆ ขึ้นอีก)
– เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระ เป็นสุข และเกิดปัญญา รู้เอง เห็นเอง สัมผัสได้ ด้วยจิตเอง
แต่ด้วยความอดทนของคนเราอาจจะมีระยะจำกัดในระยะแรกเพียงแค่ 10 นาที ก็เพียงพอ อย่าฝีนตัวเองมากไปเพราะอาจจะกลายเป็นนอกจากจะไม่ได้สมาธิแล้วยังจะทำให้รู้สึกน่าเบื่อหรือไม่อยากกลับมานั่งสมาธิอีกเลยก็เป็นได้