หลักทั่วไปในการทำสมาธินั้นพอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

หลักทั่วไปในการทำสมาธินั้นพอจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1.) หาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำสมาธิให้มากที่สุดก่อนที่จะทำสมาธิ เพื่อจะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องลองผิดลองถูก และไม่หลงทาง ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังป้องกันความฟุ้งซ่านที่อาจจะเกิดขึ้นจากความลังเลสงสัยอีกด้วย

2.) เลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด แล้วลองทำไปสักระยะหนึ่งก่อน ถ้าทำแล้วสมาธิเกิดได้ยากก็ลองวิธีอื่นๆ ดูบ้าง เพราะจิตและลักษณะนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีที่เหมาะสมของแต่ละคนจึงต่างกันไป บางคนอาจจะเหมาะกับการตามดูลมหายใจ ซึ่งอาจจะใช้คำบริกรรมว่าพุทธ-โธ หรือ เข้า/ออก ประกอบ บางคนอาจจะเหมาะกับการแผ่เมตตา บางคนถนัดการเพ่งกสิณ เช่นเพ่งวงกลมสีขาว ฯลฯ

3.) อยู่ใกล้ผู้รู้ หรือรีบหาคนปรึกษาทันทีที่สงสัย เพื่อไม่ให้ความสงสัยมาทำให้จิตฟุ้งซ่าน

4.) พยายามตัดความกังวลทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นออกไปให้มากที่สุด โดยการทำงานทุกอย่างที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะทำสมาธิ หรือถ้าทำสมาธิไปแล้ว เกิดความกังวลถึงการงานใดขึ้นมา ก็ให้บอกกับตัวเองว่าตอนนี้เป็นเวลาทำสมาธิ ยังไม่ถึงเวลาทำงานอย่างอื่น เอาไว้ทำสมาธิเสร็จแล้วถึงไปทำงานเหล่านั้นก็ไม่เห็นเสียหายอะไร ถ้าแก้ความกังวลไม่หายจริงๆ ก็หยุดทำสมาธิแล้วรีบไปจัดการเรื่องนั้นๆ ให้เรียบร้อยก่อนก็ได้ ถ้าคิดว่าขืนนั่งต่อไปก็เสียเวลาเปล่า เมื่องานนั้นเสร็จแล้วก็รีบกลับมาทำสมาธิใหม่

5.) ก่อนนั่งสมาธิถ้าอาบน้ำได้ก็ควรอาบน้ำก่อน หรืออย่างน้อยก็ควรล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้าก่อนจะทำให้โล่งสบายตัว เมื่อกายสงบระงับ จิตก็จะสงบระงับได้ง่ายขึ้น

6.) ควรทำสมาธิในที่ที่เงียบสงบ อากาศเย็นสบาย ไม่พลุกพล่านจอแจ

7.) ก่อนนั่งสมาธิควรเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาช้าๆ โดยยึดจิตไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งในเท้า ข้างที่กำลังเคลื่อนไหว เช่น ปลายเท้า หรือส้นเท้า โดยควรมีคำบริกรรมประกอบ เช่น ขวา/ซ้าย ฯลฯ) หรือสวดมนต์ก่อน เพื่อให้จิตเป็นสมาธิในระดับหนึ่งก่อน จะทำให้นั่งสมาธิได้ง่ายขึ้น

8.) การนั่งสมาธินั้นควรนั่งในท่าขัดสมาธิ หลังตรง (ไม่นั่งพิงเพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย) หรือถ้าร่างกายไม่อำนวย ก็อาจจะนั่งบนเก้าอี้ก็ได้ นั่งบนพื้นที่อ่อนนุ่มตามสมควร ทอดตาลงต่ำ ทำกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง (เพราะการเกร็งจะทำให้ปวดเมื่อย และจะทำให้จิตเกร็งตามไปด้วย) นั่งให้ร่างกายอยู่ในท่าที่สมดุล มั่นคง ไม่โยกโคลงได้ง่าย มือทั้ง 2 ข้างประสานกัน ปลายนิ้วหัวแม่มือแตะกันเบาๆ วางไว้บนหน้าตัก หลับตาลงช้าๆ หลังจากนั้นส่งจิตไปสำรวจตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้ทั่วทั้งตัว เพื่อดูว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดที่เกร็งอยู่หรือไม่ ถ้าพบก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้หายเกร็ง โดยไล่จากปลายเท้าทีละข้าง ค่อยๆ สำรวจเลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงสะโพก แล้วย้ายไปสำรวจที่ปลายเท้าอีกข้างหนึ่ง ทำเช่นเดียวกัน จากนั้นก็สำรวจจากสะโพก ไล่ขึ้นไปจนถึงยอดอก แล้วสำรวจจากปลายนิ้วมือทีละข้าง ไล่มาจนถึงไหล่ เมื่อทำครบสองข้างแล้ว ก็สำรวจไล่จากยอดอกขึ้นไปจนถึงปลายเส้นผม ก็จะเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ทั่วร่างกาย จากนั้นหายใจเข้าออกลึกๆ สัก 3 รอบ โดยมีสติอยู่ที่ลมหายใจ ตรงจุดที่ลมกระทบปลายจมูก พร้อมกับทำจิตใจให้รู้สึกผ่อนคลายลงเรื่อยๆ หลังจากนั้นจึงเริ่มทำสมาธิตามวิธีที่เลือกเอาไว้

9.) อย่าตั้งใจมากเกินไป อย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนั้นวันนี้จะต้องได้ขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะจะทำให้เคร่งเครียด จิตจะหยาบกระด้าง และจิตจะไม่อยู่กับปัจจุบัน เพราะมัวแต่ไปจดจ่ออยู่กับผลสำเร็จซึ่งยังไม่เกิดขึ้น จิตจะพุ่งไปที่อนาคต เมื่อจิตไม่อยู่ที่ปัจจุบันสมาธิก็ไม่เกิดขึ้น

ให้ทำใจให้สบายๆ ผ่อนคลาย คิดว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วค่อยๆ รวมจิตเข้ามาที่จุดที่ใช้ยึดจิตนั้น (เช่นลมหายใจ และคำบริกรรม) แล้วคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในขณะนั้น (เช่น ความหยาบ/ละเอียด ความยาว ความลึก ความเย็น/ร้อน ของลมหายใจ) จิตก็จะอยู่ที่ปัจจุบัน แล้วสมาธิก็จะตามมาเอง ถ้าฟุ้งซ่านไปบ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของจิต อย่ากังวล อย่าอารมณ์เสีย (จะทำให้จิตหยาบขึ้น) เพราะคนอื่นๆ ก็เป็นกันทั้งนั้น เมื่อรู้ตัวว่าฟุ้งออกไปแล้ว ก็ใจเย็นๆ กลับมาเริ่มทำสมาธิใหม่ แล้วจะดีขึ้นเรื่อยๆ เอง

10.) ใหม่ๆ ควรนั่งแต่น้อยก่อน เช่น 5 – 15 นาที แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 20, 30, 40, … นาที ตามลำดับ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจค่อยๆ ปรับตัว เมื่อนั่งไปแล้วหากรู้สึกปวดขาหรือเป็นเหน็บ ก็ขอให้พยายามอดทนให้มากที่สุด ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ จึงจะขยับ เพราะทุกครั้งที่มีการขยับตัวจะทำให้จิตกวัดแกว่ง ทำให้สมาธิเคลื่อนได้ และโดยปรกติแล้วถ้าทนไปได้ถึงจุดหนึ่ง เมื่ออาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว อาการปวดหรือเป็นเหน็บนั้นก็จะหายไปเอง และมักจะเกิดความรู้สึกเบาสบายขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเป็นอาการของปิติที่เกิดจากสมาธิ

11.) การทำสมาธินั้น เมื่อใช้สิ่งไหนเป็นเครื่องยึดจิต ก็ให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเราทั้งหมดไปรวมเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ อยู่ที่จุดยึดจิตนั้น เช่น ถ้าใช้ลมหายใจ (อานาปานสติ) ก็ทำความรู้สึกว่าตัวเราทั้งหมดย่อส่วนเป็นตัวเล็กๆ ไปนั่งอยู่ที่จุดที่รู้สึกว่าลมกระทบอย่างชัดเจนที่สุด เช่นปลายรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง หรือริมฝีปากบน เป็นต้น ให้ทำความรู้สึกที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว ไม่ต้องเลื่อนตามลมหายใจ เหมือนเวลาเลื่อยไม้ ตาก็มองเฉพาะที่จุดที่เลื่อยสัมผัสกับไม้เพียงจุดเดียว ไม่ต้องมองตามใบเลื่อย ก็จะรู้ได้ว่าตอนนี้กำลังเลื่อยเข้าหรือเลื่อยออก เมื่อจิตอยู่ที่จุดลมกระทบเพียงจุดเดียว ก็จะรู้ทิศทาง และลักษณะของลมได้เช่นกัน

12.) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่ากลัว อย่ากังวล เพราะทั้งหมดเป็นเพียงอาการของจิต พยายามตั้งสติเอาไว้ให้มั่นคง ตราบใดที่ไม่กลัว ไม่ตกใจ ไม่ขาดสติ ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ทำใจให้เป็นปรกติ แล้วคอยสังเกตสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ถ้าเห็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้นมา หรือรู้สึกว่าได้สัมผัสกับสิ่งที่น่ากลัวใดๆ ก็ตาม ให้แผ่เมตตาให้สิ่งเหล่านั้น แล้วคิดว่าอย่าได้มารบกวนการปฏิบัติของเราเลย ถ้าไม่หายกลัวก็นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจ แล้วพยายามอย่าใส่ใจถึงสิ่งที่น่ากลัวนั้นอีก ถ้าแก้ไม่หายจริงๆ ก็ตั้งสติเอาไว้ หายใจยาวๆ แล้วค่อยๆ ถอนจากสมาธิออกมา เมื่อใจเป็นปรกติแล้วถึงจะทำสมาธิใหม่อีกครั้ง สำหรับคนที่ตกใจง่าย ก็อาจนั่งสมาธิหน้าพระพุทธรูป หรือนั่งโดยมีเพื่อนอยู่ด้วย ก่อนนั่งก็ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน แล้วอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครอง

13.) ถ้าจิตไม่สงบ ก็ลองแก้ไขตามวิธีที่ได้อธิบายเอาไว้ในเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ซึ่งได้อธิบายเอาไว้อย่างละเอียดแล้ว

14.) เมื่อจะออกจากสมาธิ ควรแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายก่อน โดยการระลึกถึงความปรารถนาให้ผู้อื่น และสัตว์ทั้งหลายมีความสุขด้วยใจจริง จากนั้นก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้จากการทำสมาธินั้น ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (ระลึกให้ด้วยใจ) แล้วหายใจยาวๆ ลึกๆ สัก 3 รอบ พร้อมกับค่อยๆ ถอนความรู้สึกจากสมาธิช้าๆ เสร็จแล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น บิดเนื้อบิดตัวคลายความปวดเมื่อย แล้วจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืนช้าๆ

15.) เมื่อตั้งใจจะทำสมาธิให้จริงจัง ควรงดเว้นจากการพูดคุยให้มากที่สุด เว้นแต่เพื่อให้คลายความสงสัยที่ค้างคาอยู่ในใจ เพราะการคุยกันนั้นจะทำให้จิตฟุ้งซ่าน คือในขณะคุยกันก็มีโอกาสทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น และเมื่อทำสมาธิก็จะเก็บมาคิด ทำให้ทำสมาธิได้ยากขึ้น โดยเฉพาะการคุยกับคนที่สมาธิน้อยกว่าเรา นอกจากนี้ ควรเว้นจากการร้องรำทำเพลง การฟังเพลง รวมถึงการดูการละเล่นทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มกามฉันทะ ซึ่งเป็นนิวรณ์ชนิดหนึ่ง (ดูเรื่องนิวรณ์ 5 และวิธีแก้ไข ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) อันเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ